RSS

Daily Archives: มิถุนายน 26, 2013

ความหมายของงานวิจัย

ความหมายของการวิจัย

      คำว่า การวิจัย มาจากคำว่า Research มีรากศัพท์มาจาก Re + Search
Re แปลว่า ซ้ำ
Search แปลว่า ค้น
ดังนั้น Research แปลว่า ค้นคว้าซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งน่าจะหมายถึง การค้นหาความรู้ความจริง ค้นแล้วค้นอีก ซึ่งจะทำให้ได้รับรู้ความรู้ความจริงที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เพราะมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการสรุปเป็นความรู้ความจริงนั้น ๆ

ความหมายของการวิจัยตามพจนานุกรม การวิจัย คือ การค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา (พจนานุกรม. 2525)
ความหมายการวิจัยของ Best การวิจัย คือ การวิเคราะห์และบันทึกการสังเกต ภายใต้การควบคุมอย่างเป็นระบบ และเป็นปรนัย ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างทฤษฎี หลักการหรือการวางนัยทั่วไป
ความหมายการวิจัยของจริยา เสถบุตร การวิจัย คือ การค้นคว้าความรู้อย่างมีระบบและแบบแผน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการหรือเกิดประโยชน์แก่มนุษย์ โดยอาศัยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับ ในแต่ละสาขาวิชา
ความหมายการวิจัยของ บุญชม ศรีสะอาด กระบวนการค้นคว้าหาความรู้ที่เชื่อถือได้มีลักษณะดังนี้
1. เป็นกระบวนการที่มีระบบ
2. มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนและชัดเจน
3. ดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างรอบคอบ ไม่ลำเอียง
4. มีหลักเหตุผล
5.บันทึกและรายงานออกมาอย่างระมัดระวัง

สรุปความหมายการวิจัย 
การวิจัยคือ กระบวนการหาความรู้ความจริงใหม่ ที่มีระบบแบบแผนตามหลักวิชา อาศัยหลักเหตุผล ที่รอบคอบ รัดกุม ละเอียดและเชื่อถือได้ และความรู้ความจริงนั้นจะนำไปเป็นหลักการ ทฤษฎี หรือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ได้รับรู้และนำไปใช้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความสงบสุขหรือป้องกันและหลีกเลี่ยงภัยอันตรายต่าง ๆ ได้

วิธีหาความรู้ของมนุษย์ 

ปัจจุบันการวิจัยเป็นกระบวนการหาความรู้ที่ได้รับการยอมรับว่า ความรู้ที่ได้รับนั้นป็นความรู้ที่เป็นที่น่าเชื่อถือสามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามมนุษย์เราได้มีกระบวนการ หาความรู้มาเป็นเวลานานและความรู้ที่ได้หลายอย่างก็ยังคงสามารถใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน วิธีการหาความรู้นี้สามารถ แบ่งเป็นยุคดังนี้ คือ ยุคโบราณ ยุคอริสโตเติล ยุคฟานซิสเบคอน ยุคปัจจุบัน

ยุคโบราณ 

 1. โดยบังเอิญ (By Chance) หลายครั้งที่มนุษย์ได้พบความรู้ความจริงโดยบังเอิญ เช่น นายพรานเดินป่าไปพบ น้ำเมรัย อยู่บนโพรงไม้ ซึ่งเกิดจากสัตว์จำพวกนกจิกเอาข้าวนึ่งแล้วทำหล่นไว้ บนคาคบไม้ซึ่งมีน้ำฝนตกค้างไว้ เม็ดข้าวได้แช่น้ำเป็นเวลาพอควร ทำให้แป้งในเม็ดข้าวกลายเป็นแอลกอฮอร์ ทำให้ได้รับความรู้ความจริงในการทำเมรัย หรือสุราสาโท เป็นต้น
2. โดยวิธีลองผิดลองถูก (By Trial and Error) ในยุคต้น ๆ มนุษย์ได้พบความรู้ความจริงจากการลองผิดลองถูก เช่น รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ อาหารบางชนิดรับประทานแล้วมีพิษต่อร่างกาย จนได้ความรู้ความจริงว่าต่อไปจะต้องรับประทานอาหารชนิดใดจึงจะทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข นั่น เอง แล้วจึงยึดถือและสืบทอดต่อมาเรื่อยไป
      3. โดยผู้มีอำนาจ (By Authority) ในยุคโบราณมนุษย์ได้อยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่ มีการแสวง หาแนวทางในการอยู่รวมกันอย่างสงบสุข ความรู้ความจริงบางอย่างถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจเช่น ผู้นำชนเผ่าหรือผู้ที่คนในหมู่เหล่าให้ความเคารพเชื่อถือ ได้กำหนดวิธีการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติตามความรู้ความจริงนั้นแล้วจะทำให้อยู่ได้อย่างสงบสุข จึงยึดถือเป็นความรู้ความจริงเรื่อยมา
      4. โดยธรรมเนียมประเพณี (By Tradition) ความรู้ต่าง ๆ อาจจะได้รับมาจากการสืบทอดประเพณีต่อกันมา เช่น พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีการสูตรขวัญของชาวอีสาน ซึ่งมีความรู้ความจริงเกี่ยวกับพิธีกรรม ขั้นตอน แนวปฏิบัติอันเป็นความรู้ความจริง ที่คนรุ่นหลังจดจำและปฏิบัติตามพิธีกรรมนี้ ซึ่งเชื่อว่าหากประกอบพิธีกรรมแล้วจะทำมีขวัญกำลังใจ มีความสงบสุข ประสบความโชคดีและมีโชคลาภ เป็นต้น
      5.โดยผู้เชี่ยวชาญ (By Expert) ในบางครั้งมนุษย์อาจจะได้รับเอาความรู้ความจริงจากผู้เชี่ยวชาญ ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านดาราศาสตร์ ด้านโหราศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ได้บันทึกและจดจำความรู้ความจริงนั้น ๆ ไว้โดยไม่ต้องเข้าเหตุผลที่นำมาอธิบาย
      6.โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว (By Personal Experience) นอกจากวิธีการที่มนุษย์ได้รับความรู้จากที่กล่าวข้างต้น มนุษย์ยังได้รับความรู้ความรู้ที่ตนเองได้รับจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง แล้วบอกเล่าสืบต่อลูกหลาน เป็นความรู้ความจริง

โดยสรุป ในการรับรู้ความรู้ของมนุษย์ในยุคโบราณนั้น ไม่ได้อาศัยหลักเหตุผลใด ๆ มากนัก เพียงได้รับรู้ มาแล้วปฏิบัติตาม เชื่อ หรือยึดถือ ความรู้ความจริงนั้น โดยไม่ได้พิสูจน์ให้แน่ชัด

ยุคอริสโตเติล (Aristotle) 

อริสโตเติลเชื่อว่า การที่มนุษย์จะรับเอาความรู้ความจริงมานั้น จะต้องอาศัยหลักของเหตุผล ในการจะเชื่อ หรือยึดถือความรู้ความจริงใดจำเป็นจะต้องได้รับการพิสูจน์ก่อน ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ได้ความรู้นี้เรียกว่า Syllogistic Reasoning หรือเรียกว่า วิธีอนุมาน (Deductive Reasoning) หรือ Aristotelian Deduction หรือวิธีอนุมาน (Deductive Reasoning) ซึ่งวิธีการนี้จะเริ่มที่กำหนดความรู้ความจริงขึ้นมา แล้วพิจารณาว่าตัวอย่างหนึ่ง ๆ อยู่ในเงื่อนไขหรือไม่ แล้วจึงสรุปเป็นความรู้ความจริง ตัวอย่าง เช่น
ข้อเท็จจริงใหญ่ – นกทุกชนิดมีปีก
ข้อเท็จจริงย่อย – กาเป็นนกชนิดหนึ่ง
ข้อสรุป – กามีปีก

ยุคฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon)

ฟรานซิส เบคอนได้ วิจารณ์วิธีอนุมานของอริสโตเติล ว่ามีข้อบกพร่องสองประการ คือ
1. ข้อสรุปจะถูกต้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงใหญ่และย่อย หากข้อเท็จจริงใหญ่ไม่ถูกต้อง แล้วจะทำให้ข้อสรุปที่จะเป็นความรู้ความจริงนั้นไม่ถูกต้องด้วย
ข้อเท็จจริงใหญ่ – ปลาทุกชนิดมีเกล็ด
ข้อเท็จจริงย่อย – ปลาดุกเป็นปลาชนิดหนึ่ง
ข้อสรุป – ปลาดุกมีเกล็ด

ขณะเดียวกันหากข้อเท็จจริงใหญ่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงย่อยอยู่ภายใต้เงื่อนไขของข้อเท็จจริงใหญ่ ยังทำให้ข้อสรุปไม่ถูกต้อง เช่น
ข้อเท็จจริงใหญ่ – นกทุกชนิดออกลูกเป็นไข่
ข้อเท็จจริงย่อย – เต่าออกลูกเป็นไข่
ข้อสรุป -เต่าจึงเป็นนกชนิดหนึ่ง
2. วิธีการอนุมานของอริสโตเติล ไม่ช่วยให้พบความรู้ความจริงใหม่ ๆ จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ไม่มีความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ มีเพียงความรู้เก่าที่นำมาพิสูจน์เท่านั้น

เบคอน จึงเสนอ วิธีอุปมาน (Baconian Induction)
ขั้นที่ 1 เก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงย่อย
ขั้นที่ 2. วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่าง ข้อเท็จจริงย่อยเหล่านั้น
ขั้นที่ 3 สรุปผล (Conclusion)
ข้อเท็จจริงย่อย – นกแต่ละชนิดมีปีก
ข้อสรุป – นกทุกชนิดมีปีก

หลักอุปมานมี 2 แบบคือ
1. อุปมานอย่างสมบูรณ์ (Perfect Induction) เป็นการเสาะแสวงหาความรู้โดยการเก็บรวบรวม ข้อเท็จจริงย่อย ๆ จากทุกหน่วยของประชากร แล้วจึงสรุปรวม
2. อุปมานที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Induction) เป็นการเสาะแสวงหาความรู้โดยการเก็บรวบรวม ข้อเท็จจริงย่อย ๆ จากบางส่วนของหน่วยประชากร แล้วจึงสรุปรวม

ยุคปัจจุบัน

ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin ) นำวิธีอนุมานของอริสโตเติลและวิธีอุปมานของ เบคอน มารวมกัน เพราะเห็นว่าทั้งสองวิธีจะมีประโยชน์อย่างมากในการที่จะค้นความความรู้ความจริง และตรวจสอบความถูกต้องความรู้ความจริงนั้น เมื่อรวมทั้งสองวิธีเรียกว่า วิธีการอนุมาน-อุปมาน (Deductive-Inductive Method) เป็น 5 ขั้น
1.ขั้นปัญหา (Problem) เป็นขั้นตอนที่เราจะสังเกตพบปัญหาในความต้องการความรู้ความจริงหนึ่งว่า มีเหตุการหรือสภาพการณ์เป็นอย่างไร มีเหตุหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือสภาพการณ์นั้น
2.ขั้นตั้งสมมติฐาน(Hypothesis) ในขั้นตอนนี้เราจะต้องศึกษาและทบทวนความรู้ที่มีอยู่เดิมมาประกอบการพิจารณาว่าคำตอบของปัญหาในขั้นที่ 1 นั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรียกว่า การตั้งสมมติฐาน ซึ่งจะเป็นแนวในการตรวจสอบว่า สมมติฐานที่ตั้งขึ้นนี้จะเป็นจริงหรือไม่
3.ขั้นรวบรวมข้อมูล(Gathering Data) ในขั้นนี้เราจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มาอย่างเพียงพอและตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษา
4.ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล(Analysis) ในขั้นนี้จะเป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมมาทำการวิเคราะห์เพื่อมาหาลักษณะร่วมหรือสอดคล้องกันของข้อมูลเหล่านั้น และพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านี้มีกี่ลักษณะและแตกต่างอย่างไร เป็นต้น
5.ขั้นสรุป(Conclusion) ในขั้นตอนนี้เป็นการนำผลการวิเคราะห์มาแปลผลและตีความผลการวิจัยที่พบ อันเป็นการสรุปผลการวิจัยนั่นเอง
ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) และเป็นวิธีการหาความรู้ความจริงที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด การวิจัยได้นำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์นี้ประยุกต์เป็นกระบวนการวิจัย ธรรมชาติของการวิจัย
1. กระบวนการวิจัยจะต้องได้จากข้อมูลใหม่
2. จุดมุ่งหมายใหม่ หรือข้อมูลเก่า แต่จุดประสงค์ใหม่
3. การวิจัยมุ่งที่จะหา ข้อเท็จจริงใหม่ ทฤษฎีใหม่
4. การวิจัยเป็นกระบวนการที่ใช้เหตุผล
5. การวิจัยต้องมีการวางแผน ด้วยความระมัดระวัง อย่างมีระบบ
6. การวิจัย ต้องมีการบันทึก และรายงาน อย่างละเอียด

ลักษณะของการวิจัย

1. การวิจัยเป็นการค้นคว้าที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ และความมีระบบ
2. การวิจัยเป็นงานที่มีเหตุผลและมีเป้าหมาย
3. การวิจัยจะต้องมีเครื่องมือหรือเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่มีความเที่ยงตรง และเชื่อถือได้
4. การวิจัยจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลใหม่และ ความรู้ใหม่
5. การวิจัยเป็นการศึกษาค้นคว้าที่มุ่งหาข้อเท็จจริง
6. การวิจัยต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความซื่อสัตย์ กล้าหาญ
7. การวิจัยจะต้องมีการบันทึกและเขียนการรายงาน การวิจัย อย่างระมัดระวัง

ลักษณะที่ไม่ใช่การวิจัย
1. การที่นิสิตนักศึกษาไปค้นคว้า เอกสารตำราแล้วนำมาเรียบเรียง ตัดต่อ

2. การค้นพบ (Discovery) โดยทั่วไป โดยบังเอิญ
3. การรวบรวมข้อมูลแล้วนำมา จัดทำตาราง
4. การทดลองปฏิบัติการ ตามคู่มือที่แนะนำไว้

ต่อไปนี้เป็นการวิจัยหรือไม่
– การค้นพบซากวัตถุโบราณ
( ) เป็นการวิจัย ( )ไม่เป็นการวิจัย
– การทดลองพันธุ์ข้าวในสี่ภูมิภาค
( ) เป็นการวิจัย ( )ไม่เป็นการวิจัย
– การศึกษาวิเคราะห์ถิ่นที่อยู่ของไดโนเสาร์
( ) เป็นการวิจัย ( )ไม่เป็นการวิจัย
– การเปรียบเทียบวิธีสอน 3 วิธี
( ) เป็นการวิจัย ( )ไม่เป็นการวิจัย

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

ในการดำเนินการวิจัยนั้นโดยปกติเราจะมีวัตถุประสงค์สำคัญต่อไปนี้
1. เพื่อใช้ในการบรรยาย ผลที่ได้จากการวิจัยสามารถที่จำบรรยายลักษณะของสิ่งที่ทำการศึกษาวิจัย นั้น ว่าเป็นเช่นไร อยู่ที่ใด มีกี่ประเภท มากน้อยเพียงใด มีสภาพเป็นอย่างไร มีพัฒนการหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือ มีปัญหาอะไร มีความพึงพอใจมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
2. เพื่อใช้ในการอธิบาย ผลที่ได้จากการวิจัยจะสามารถบอกเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ว่ามีสาเหตุมาจากสิ่งใดหรือได้รับอิทธิพลจาก ตัวแปรใดหรือปัจจัยใด รวมทั้ง ปัจจัยใดมีอิทธิพลมากน้อยกว่ากัน ซึ่งผู้วิจัยอาจทดลองใส่ปัจจัยลงไป ในสิ่งที่ศึกษาแล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น แล้วจะช่วยอธิบายได้ว่า การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะสาเหตุใดหรือได้รับอิทธิพลจากสิ่งใด
3. เพื่อใช้ในการทำนาย ในบางครั้ง เราจำเป็นที่จะต้องทราบอนาคตของสิ่งที่ศึกษา ว่าเป็นเช่นไร อันจะช่วยให้มนุษย์สามารถที่เตรียมการ ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้ ซึ่งการวิจัยนี้อาจจะอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้น มาแล้วในอดีตจนถึงปัจจุบันแล้วทำการวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะอาศัยวิธีการทางสถิติ หรืออาศัยประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คน เป็นต้น
4. เพื่อใช้ในการควบคุม ในการดำเนินกิจกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งต้องการประสิทธิภาพและคุณภาพของงาน จำเป็นที่จะต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลง และมีการปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเพื่อ ให้สามารถได้ข้อมูลที่ถูกต้องทันเหตุการณ์และเพียงพอต่อการตัดสินใจ แก้ปัญหาและปรับปรุงงานนั้น ๆ จำเป็นจะต้องอาศัยกระบวนการวิจัยที่รอบรอบรัดกุมยิ่งขึ้น
5. เพื่อใช้ในการพัฒนา ในการวิจัยจะช่วยให้ทราบสภาพความเป็นอยู่ หรือสภาพการดำเนินการใด ๆ ว่ามีประสิทธิภาพ หรือมีปัญหา หรือความต้องการเพียงใด และสามารถทดลองแก้ปัญหาหรือปรับปรุงสภาพการดำเนินงานใด ๆ อยู่เสมอ ก็จะทำให้สภาพความเป็นอยู่ หรือสภาพดำเนินการใด ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อคุณภาพของงานนั้น อันจะส่งผลต่อความสงบสุขของมนุษย์นั่นเอง

ประโยชน์ของการวิจัย

    1. ช่วยให้ได้ความรู้ใหม่ ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ
2. ช่วยพิสูจน์หรือตรวจสอบความถูกต้องของกฏเกณฑ์ หลักการและทฤษฎีต่างๆ
3. ช่วย ให้เข้าใจสถานการณ์ ปรากฏการณ์และ พฤติกรรมต่าง ๆ
4. ช่วยพยากรณ์ผลภายหน้าของสถานการณ์ ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่าง ถูกต้อง
5. ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
6. ช่วยในการวินิจฉัย ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
7. ช่วยปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
8. ช่วยปรับปรุงและพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ และวิธีดำรงชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
9. ช่วยกระตุ้นบุคคลให้มีเหตุผล รู้จักคิดและค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ

จรรยาบรรณของนักวิจัย

    1. การทำการวิจัยที่ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาวิจัย กลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นจะต้องรับรู้และยินยอมที่จะเป็นกลุ่มตัวอย่าง และมั่นใจว่าตนเองจะไม่ได้รับความเสียหายหรืออันตรายใด ๆ
2. การทำการวิจัยจะต้องมีการรักษาผลประโยชน์แก่กลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะการวิจัยที่ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างในการทดลองที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายต่อร่างกายแล้ว ไม่ควรกระทำ ควรจะใช้สัตว์อื่นแทนมนุษย์ เช่น หนูในการทดลองยา เป็นต้น
3. การทำการวิจัยที่ต้องอาศัยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อมาทำการวิเคราะห์ ซึ่งบางครั้งเป็นข้อมูลที่ต้องการปกปิด หรือเป็นข้อมูลด้านลบของบุคคล ดังนั้น ผู้วิจัยจะต้องระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากจะเป็นผลการวิเคราะห์ในภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
4. การทำการวิจัยจะต้องมีความระมัดระวัง เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างมีความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจของบุคคลอื่นซึ่งการวิจัยจะครอบคลุมไปถึง
5. ผู้ทำวิจัยจะต้องมีความซื่อสัตย์และเป็นกลางในเรื่องที่ตนทำวิจัย ไม่ดำเนินการโดยความลำเอียง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเก็บข้อมูลการวิจัยหรือตีความผลการวิเคราะห์ข้อมูล
6. ผู้วิจัยจะต้องมีความรับผิดชอบในงานวิจัยของตน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่าง หรือผลการวิจัยที่ปรากฏผลออกมาจะต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่เป็นการทำขึ้นเพื่อทำลายความสงบสุขของคนในสังคม หรือทำลายบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด

 

(แหล่งที่มา:จากเว็บไซต์) edurmu.org/cai/_surawart/elearning/content/lesson1/101.html

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน มิถุนายน 26, 2013 นิ้ว ความหมาย